วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรื่องที่ 1 ทฤษฎีพัฒนาการ


ความหมายของพัฒนาการ

นักวิชาการหลายท่านให้ความหมายของคำว่าพัฒนาการ (development) ดังนี้
  • สุชา จันทร์เอม (2540 : 1) กล่าวว่าพัฒนาการ หมายถึง ลำดับของการเปลี่ยนแปลงหรือกระบวนการเปลี่ยนแปลง (process of change) ของมนุษย์ทุกส่วนที่ต่อเนื่องกันไปในระยะเวลาหนึ่ง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่งเพื่อที่จะไปสู่วุฒิภาวะ ทำให้มีลักษณะและความสามารถใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามลำดับ 
  • ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต (2541 : 1) ได้ให้คำจำกัดความของพัฒนาการว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน มีขั้นตอน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเจริญเติบโตงอกงามและถดถอย และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลรวมของวุฒิภาวะและประสบการณ์ 
  • ศรีเรือน แก้วกังวาล (2540 : 21) กล่าวว่าพัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งที่สังเกตได้ง่าย ชัดเจน และมองเห็นได้ยาก ไม่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
        จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า พัฒนาการเป็นกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ในทุก ๆ ด้านของชีวิตตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการเจริญงอกงามและการถดถอย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่ความมีวุฒิภาวะ

จุดมุ่งหมายของการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์

1. เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการที่จะเข้าใจลักษณะของพัฒนาการในระยะเวลาต่างๆว่าเป็นอย่างไร และจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ตามความเหมาะสมของแต่ละอายุ ทั้งนี้เพราะว่า ในการที่เราจะเข้าใจลักษณะต่างๆ ได้นั้นจะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างช่วยกัน เช่น ประสบการณ์ในชีวิต การได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคคลต่างๆ 

2. เพื่อให้สามารปรับตัวให้เข้ากับความยากลำบากของการพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุว่ามีความแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี เช่น ในวัยชรา คนชราจะได้รับอิทธิพลและปัญหาต่างๆ หล่อหลอมบุคลิกภาพ ความรู้สึกนึกคิด มาตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับนั้นจะแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญยิ่ง คือ ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับตจะเป็นตัวหล่อหลอมให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพและความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเองและจะไม่เหมือนบุคคลอื่น ซึ่งจัดว่าการที่บุคคลมีการยอมรับและเข้าใจตนเอง(Self actualization) นั้นย่อมมีความแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้จุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จึงมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆนั่นคือ

1.  เพื่อการบรรยาย (Description) ในการบรรยายนี้จะเป็นการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อให้สามารถที่จะบอกเล่ากันต่อๆไปได้ อันเป็นความรู้ และเพื่อจะได้นำเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งลักษณะดังกล่าว จะเป็นการบอกเล่าว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน 
2. เพื่อการอธิบาย (Explanation) เพื่อเป็นการเสาะแสวงหาความรู้และเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในสิ่งที่เราไม่รู้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามอธิบาย หรือให้ความกระจ่างว่า ปรากฏการณ์นั้นเกิดได้อย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุ ผลที่ตามมาควรจะประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง
3.   เพื่อการทำนาย (Prediction) เป็นการพยากรณ์ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการอธิบาย ทั้งนี้เพราะ การทำนายนั้นจะเป็นการทำนายเพื่อต้องการอธิบายในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า เมื่อไหร่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วผลจะเป็นอย่างไร เวลาไหน ซึ่งการที่เราสามารถทำนายได้นี้นับว่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอันมาก 
4.  เพื่อการควบคุม (Control) เป็นการที่ผู้รู้จะสามารถนำเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดโดยการปรับปรุงธรรมชาติ สภาพทางสังคม และบุคคลให้อยู่ในตามแนวทางที่ตนปรารถนา การควบคุมดังกล่าวจึงนับว่ามีความสำคัญไม่น้อย


ซิกมัน ฟรอยด์


ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมัน ฟรอยด์

                                                                            

          

ประวัติของซิกมัน ฟรอยด์      

        ฟรอยด์  เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม 1856 ในครอบครัวที่มีอาชีพขายขนสัตว์ เมื่ออายุได้ 4 ขวบ  ครอบครัวก็ได้ย้ายจากเชโกสโลวะเกียไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

             ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย  เชื้อสายยิว เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2399 ในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งปัจจุบันคือ  สาธารณรัฐเช็ก และเสียชีวิตวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2482 รวมอายุ 83 ปี

          ครอบครัวมีอาชีพขายขนสัตว์  มีฐานะปานกลางซิกมันด์  ฟรอยด์ (Sigmund Freud) สนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก  เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวียนนาสาขาวิทยาศาสตร์ แล้วเรียนต่อสาขาแพทยศาสตร์  จากนั้นได้ไปศึกษาต่อด้านโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต  ที่นั่นฟรอยด์ได้ค้นพบว่าความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ร่างกาย

ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ 
             มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้นยัง เชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual drive) และเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ได้ จิตจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง บ้างจะแสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึง ความต้องการทางเพศ นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายว่าสัญชาตญาณจะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido)เป็นพลังที่ทำให้มนุษย์

การทำงานของจิต แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. จิตไร้สำนึก ( Unconscious Mind ) 

         การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึกเกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้

2. จิตสำนึก ( Conscious Mind )

             บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็นการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยมีเจตนาและมีจุดมุ่งหมาย

3. จิตก่อนสำนึก ( Preconscious Mind )

            เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้ หรือเมื่อบุคคลต้องการนำกลับมาใช้ใหม่ก็สามารถระลึกได้และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตรู้สำนึกมากกว่าจิตไร้สำนึก
จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process)เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ ( Instinctual Drives ) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเองไปยังบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึกและจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)

โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)

         ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) โดยจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้

         1. อิด ( Id ) 

        จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดId ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ ( Instinct ) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle)

     2. อีโก้ ( Ego ) 

         จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้ ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Ego ขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle)ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่

      3. ซูเปอร์อีโก้ (Superego)

        เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
        ฟรอยด์ ได้อธิบายถึงการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางเพศ (Stage of Psychosexual Development) จากความเชื่อเกี่ยวกับสัญชาตญาณทางเพศในเด็กทารกที่แสดงออกมาในรูปพลังของ ลิบิโด (Libido) และสามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและบริเวณที่พลังลิบิโดไปรวมอยู่เรียกว่า ที่ของความรู้สึกพึงพอใจ (Erogeneous Zone) เมื่อพลังลิบิโดไปอยู่ในส่วนใดก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียด (Tension) 

ฟรอยด์ แบ่งการพัฒนาบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่

1. ขั้นปาก (Oral Stage) 

          เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่บริเวณปาก การได้รับการกระตุ้น หรือเร้าที่ปากจะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ ทำให้เด็กตอบสนองความพึงพอใจของตนเองโดยการดูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูดนมแม่จึงเป็นความสุขและความพึงพอใจของเขา

2. ขั้นทวารหรือขั้นอวัยวะขับถ่าย (Anal Stage)

          เด็กจะมีอายุตั้งแต่ 1-3 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่บริเวณทวาร โดยที่เด็กจะมีความพึงพอใจเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น หรือเร้าบริเวณทวารในระยะนี้เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีความพึงพอใจกับความสามารถในการควบคุมอวัยวะของตนเอง โดยเฉพาะอวัยวะขับถ่าย กิจกรรมที่เด็กมีความสุขจะเกี่ยวข้องกับการกลั้นอุจจาระ (Anal Retention) และการถ่ายอุจจาระ (Anal Expulsion) ความขัดแย้งที่มักเกิดขึ้นในขั้นนี้คือ การฝึกหัดการขับถ่าย(Toilet) Training ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

3. ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น (Phallic Stage) 

          เริ่มตั้งแต่ 3 - 5 ขวบ ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่อวัยวะเพศ โดยที่เด็กเกิดความรู้สึกพึงพอใจกับการจับต้องอวัยวะเพศ เพราะมีความพึงพอใจทางเพศอยู่ที่ตนเองในระยะแรก ถ้าเด็กมีเพศตรงข้ามกับพ่อแม่เด็ก จะทำให้เด็กชายรักใคร่ และหวงแหนแม่จึงเกิดความรู้สึกอิจฉา เด็กหญิงจะรักใคร่และหวง แหนพ่อ จึงรู้สึกอิจฉาและเป็นศัตรูกับแม่

4. ขั้นแฝง (Latency Stage)

          เริ่มตั้งแต่ อายุ 6 - 11 ปี ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะไม่ปรากฏอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ เสมือนขั้นแฝงของพลัง Libido เป็นระยะพักในเรื่องเพศ และจินตนาการทางเพศ

5. ขั้นอวัยวะเพศตอนปลาย (Genital Stage)

     เริ่มจาก 12 ขวบเป็นต้นไป ในระยะนี้เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา โดยมี Erogonous Zone จะมาอยู่ที่อวัยวะเพศ (Genitel Area) เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั้งหญิงและชายต่างๆ กัน และมีพัฒนาการทางร่างกายมีความสามารถในการสืบพันธุ์ ้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการทางเพศอย่างรุนแรง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระ

กลไกการเกิดอาการ (SYMPTOM FORMATION)

        ปกติแรงผลักดันต่าง ๆ ภายในจิตใจ และจากสิ่งแวดล้อมจะมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตลอด ไม่หยุดนิ่ง (dynamic) แรงผลักดันจาก id จะถูกต่อต้านโดย egoเนื่องจากหากความต้องการจาก id ได้ขึ้นสู่จิตสำนึก หรือแสดงออกโดยตรงอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคลนั้นได้ ในบางขณะ superego จะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วยแรงผลักดันที่มีลักษณะตรงข้ามกันเหล่านี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง (conflict) ขึ้น ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งของโครงสร้างต่าง ๆ ภายในจิตใจ หรืออาจเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้จะพบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างid กับ ego ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เราเรียกความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego นี้ว่า neurotic conflict

          เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจิตใจจะอยู่ในสภาพเสียสมดุล (disequilibrium)แรงผลักดันจาก id มีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นสู่จิตสำนึก ภายใต้สถานการณ์นี้จะเกิดมีสัญญาณเตือนต่อ ego ในลักษณะของความรู้สึกวิตกกังวล (signal anxiety)ทำให้ ego ต้องแก้ไขสถานการณ์โดยใช้กลไกทางจิต (defense mechanism) เข้าช่วย กลไกทางจิตที่ใช้เป็นลำดับแรกได้แก่ การเก็บกด (repression) ถ้าสำเร็จแรงผลักดันจาก id รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงผลักดันนี้จะถูกผลักกลับไปอยู่จิตไร้สำนึกตามเดิม เกิดความสมดุลของจิตใจขึ้นใหม่
ในกรณีที่กลไกทางจิตแบบเก็บกดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากแรงผลักดันจาก id รุนแรงมาก ego อ่อนแอลงในช่วงนั้น หรือมีปัจจัยภายนอกมาเสริมแรงผลักดันจาก id ego จะใช้กลไกทางจิตรูปแบบอื่น ๆ เข้าช่วย (auxillary defense) เช่น reaction formation หรือ projection ลักษณะการแสดงออกจะเป็นในรูปแบบของการประนีประนอม (compromise formation) กล่าวคือ ให้แรงผลักดันจาก id ได้ขึ้นมาสู่จิตสำนึกบางส่วนในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ความต้องการจากแรงผลักดันดั้งเดิมได้รับการตอบสนองบ้าง ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงถึงแรงต่อต้านจาก ego ในรูปแบบของกลไกทางจิตที่ใช้เข้าช่วย อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่แสดงออกมานั้นเป็นผลรวมของแรงผลักดันจากid ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลไกทางจิตที่ ego ใช้เข้าช่วยเสริม repression และsignal anxiety ที่ยังอาจมีอยู่บ้าง
กลไกทางจิต (Defense Mechanism)

          กลไกทางจิตส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดังเช่นใน displacement ผู้ป่วยแสดงความฉุนเฉียวกับคนใช้ที่บ้าน เนื่องจากรู้สึกว่า คนใช้ชักช้า งุ่มง่าม ไม่เคยได้ดังใจ โดยที่ไม่ทราบว่าตามจริงแล้วเป็นจากการที่ตนโกรธหัวหน้างานแต่แสดงออกไม่ได้จึงมาระบายกับคนใช้
โดยลำพังในตัวของกลไกทางจิตเองไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เนื่องจากเป็นการปรับตัวของ ego เพื่อให้จิตใจกลับสู่สมดุล แต่หากบุคคลนั้น ๆ มีการใช้กลไกทางจิตแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ ใช้กลไกทางจิตจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ไม่ยืดหยุ่นปรับตามสถานการณ์ หรือมีการใช้กลไกทางจิตที่ไม่เหมาะสมกับวัยหรือสถานการณ์อยู่บ่อย ๆ ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาหรือจิตพยาธิสภาพในบุคคลนั้นตามมา
แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้
   
กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้

          1) การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่ง ลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมาก และอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

          2) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัว โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูก มักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตี เพราะโกรธลูก

           3) การถดถอย (Regress)ion หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง

            4) การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ

             5) การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming)  เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้

             6) การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก อาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว

             7) การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคน หรือสิ่งของ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่ หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา และลูก ๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้

             8) การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่

กลไกในการป้องกันตัว เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผล หรือแก้ไขปัญหาได้

อีริคสัน


ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน



ประวัติ

         อีริคสัน เป็นลูกศิษย์ของฟรอยด์ได้สร้างทฤษฎีขึ้นในแนวทางความคิดของฟรอยด์ แต่ได้เนินความสำคัญ ทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ (Psychological Environment) ว่ามีบทบาทใน พัฒนาการบุคลิกภาพมาก ความคิดของอีริคสันต่างกับฟรอยด์หลายประการ เป็นต้นว่า เห็นความสำคัญของ Ego มากกว่า Id และถือว่าพัฒนาการของคนไม่ได้จบแค่วัยรุ่น แต่ต่อไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต คือ วัยชรา และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคลิกภาพของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แนวคิด

         แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับวิกฤตภายในเชื่อมโยงกับแต่ละขั้นของชีวิต (จิตวิทยาสังคม) 8 ครั้ง ซึ่งในสามขั้นแรกถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดซึ่งเกิดในช่วงปฐมวัย คือ ขั้นที่ 1 การเชื่อใจ-การไม่เชื่อใจ ขั้นที่ 2 การเป็นตัวของตัวเอง-ความละอายใจและความสงสัย ขั้นที่การคิดริเริ่ม-การรู้สึกผิด

ทฤษฎีจิตสังคม (Psychological Theory) ได้แบ่งพัฒนาทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น คือ 

ขั้นที่ 1 ความไว้วางใจ – ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs Mistrust) 

          ซึ่งเป็นขั้นในวัยทารก อีริควันถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการในวัยต่อไป เด็กวัยทารกจำเป็น จะต้องมีผู้เลี้ยงดูเพราะช่วยตนเองไม่ได้ ผู้เลี้ยงดูจะต้องเอาใจใส่เด็ก ถึงเวลาให้นมก็ควรจะให้และปลด เปลื้องความเดือดร้อน ไม่สบายของทารกอันเนื่องมาจากการขับถ่าย เป็นต้น 

ขั้นที่ 2 ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ – ความสงสัยไม่แน่ใจตัวเอง (Autonomous vs Shame and                 Doubt) 

          อยู่ในวัยอายุ 2-3 ปี วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเดินได้ สามารถที่จะพูดได้และความเจริญเติบโตของร่ายการช่วย ให้เด็กมีความอิสระ พึ่งตัวเองได้ และมีความอยากรู้อยากเห็น อยากจับต้องสิ่งของต่างๆ เพื่อต้องการสำรวจ ว่าคืออะไร เด็กเริ่มที่อยากเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง 

ขั้นที่ 3 การเป็นผู้คิดริเริ่ม – การรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt) 

          วัยเด็กอายุประมาณ 3-5 ปี อีริคสันเรียกวัยนี้ว่าเป็นวัยที่เด็กมีความคิดริเริ่มอยากจะทำอะไรด้วยตนเอง จากจินตนาการของตนเอง การเล่นสำคัญมากสำหรับวัยนี้เพราะเด็กจะได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ จะสนุกจาก การสมมติของต่างๆ เป็นของจริง เช่น อาจจะใช้ลังกระดาษเป็นรถยนต์ ขับรถยนต์เหมือนผู้ใหญ่ 

ขั้นที่ 4 ความต้องการที่จะทำกิจกรรมอยู่เสมอ – ความรู้สึกด้อย (Industry vs Inferiority) 

          อีริคสันใช้คำว่า Industry กับเด็กอายุประมาณ 6-12 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและ ทางด้านร่างกาย อยู่ในขั้นที่มีความต้องการที่จะอะไรอยู่เมือไม่เคยว่าง 

ขั้นที่ 5 อัตภาพหรือการรู้จักว่าตนเองเป็นเอกลักษณ์ – การไม่รู้จักตนเองหรือสับสนในบทบาทใน สังคม (Ego Identity vs Role Confusion) 

          อีริคสันกล่าวว่า เด็กในวัยนี้ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จะรู้สึกตนเองว่า มีความเจริญเติบโต โดยเฉพาะ ทางด้านร่างกายเหมือนกับผู้ใหญ่ทุกอย่าง ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงทางเพศทั้ง หญิงและชาย เด็กวัยรุ่นจะมีความรู้สึกในเรื่องเพศและบางคนเป็นกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ขั้นที่ 6 ความใกล้ชิดผูกพัน – ความอ้างว้างตัวคนเดียว (Intimacy vs Isolation) วัยนี้เป็นวัยผู้ใหญ่ ระยะต้น (Young Adulthood) 

          เป็นวัยที่ทั้งชายและหญิงเริ่มที่จะรู้จักตนเองว่ามีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร เป็นวัยที่พร้อมที่จะมี
ความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศในฐานะเพื่อนสนิทที่จะเสียสละให้กันและกัน รวมทั้งสามารถยินยอม
เห็นใจซึ่งกันและกันโดยไม่เห็นแก่ตัวเลย และมีความคิดตั้งตนเป็นหลักฐานหรือคิดสนใจที่จะแต่งงานมี
บ้านของตนเอง 

ขั้นที่ 7 ความเป็นห่วงชนรุ่นหลัง – ความคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity vs Stagnation) 

          อีริควันอธิบายคำว่า Generativity ว่าเป็นวัยที่เป็นห่วงเพื่อนร่วมโลกโดยทั่วไป หรือเป็นห่วงเยาวชน รุ่นหลัง อยากจะให้ความรู้ สั่งสอนคนรุ่นหลังต่อไป คนที่แต่งงานมีบุตรก็สอนลูกหลายคนที่ไม่แต่งงาน ถ้าเป็นครูก็สอนลูกศิษย์ ถ้าเป็นนายก็สอนลูกน้อง หรือช่วยทำงานทางด้านศาสนา เพื่อที่จะปลูกฝังให้ คนรุ่นหลังเป็นคนดีต่อไป 

ขั้นที่ 8 ความพอใจในตนเอง – ความสิ้นหวังและความไม่พอใจในตนเอง (Ego Integrity vs Despair) 

          วัยนี้เป็นระยะบั้นปลายของชีวิต ฉะนั้น บุคลิกภาพของคนวัยนี้มักจะเป็นผลรวมของวัย 7 วัยที่ผ่านมา ผู้มีอาวุโสบางท่านยอมรับว่าได้มีชีวิตที่ดีและได้ทำดีที่สุด ยอมรับว่าตอนนี้แก่แล้วและจะมีชีวิตอยู่อย่างมี ความสุข จะเป็นนายของตนเองและมีความพอใจในสภาพชีวิตของตน ไม่กลัวความตาย พร้อมที่จะตายยอมรับว่าคนเราเกิดมาแล้วก็จะต้องตาย

โรเบิร์ต เจ. ฮาร์วิกเฮิร์ส


ทฤษฎีพัฒนาการตามวัยของโรเบิร์ต เจ. ฮาร์วิกเฮิร์ส

 




แนวความคิดของ โรเบิร์ต เจ. ฮาวิกเฮิร์สได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็นวัยต่างๆได้ดังนี

1. วัยเด็กเล็ก-วัยเด็กตอนต้น (แรกเกิด- 6 ปี)




ในวัยนี้จะมีงานที่สำคัญ  ดังนี้
                - การเรียนรู้ทางด้านร่างกาย เช่น การยกศีรษะ คลาน การทรงตัว การเดิน
               - การเรียนรู้ทางด้านการรับประทานอาหาร
               - การเรียนรู้ทางด้านการเปล่งเสียง การพูด
                - การเรียนรู้ในเรื่องการควบคุมการขับถ่าย
                - เริ่มมีความคิดรวบยอดง่ายๆ เกี่ยวกับความจริงทางสังคม และทางกายภาพ
                - เริ่มรู้จักแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผิด-ถูก และเริ่มพัฒนาทางจริยธรรม

2. วัยเด็กตอนกลาง (6-12 ปี)




ในวัยนี้จะมีงานที่สำคัญ ดังนี้
                - พัฒนาทักษะทางด้านกายภาพ
                - เรียนรู้ที่จะแสดงบทบาทให้เหมาะสมกับเพศของตนเอง
                - พัฒนาในเรื่องการปรับตัวเข้ากับเพื่อนรุ่นเดียวกัน
                - พัฒนาเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ค่านิยม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

3. วัยรุ่น (12-18 ปี)




พัฒนาการที่สำคัญของบุคคลในวัยนี้ คือ
         - พัฒนาความคิดรวบยอดและทักษะในการแก้ปัญหา
         - สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีและเหมาะสมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศได้
         - พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์

4. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (18-35 ปี) 

  


ในวัยนี้จะมีลักษณะที่สำคัญ  ดังนี้
             - เริ่มต้นประกอบอาชีพ
             - เริ่มสร้างครอบครัวของตนเอง
             - เรียนรู้ที่จะมีชีวิตร่วมกับคู่แต่งงาน

  5. วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง / วัยกลางคน(35-60 ปี)


 


งานที่สำคัญในวัยนี้ คือ
               - มีความรับผิดชอบต่อสังคม
               - มีความพยายามในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว
               - รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น
               - สามารถปรับตัวและทำความเข้าใจคู่ชีวิตของตนเองให้ได้

6. วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย / วัยชรา (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)

  


งานที่สำคัญในวัยนี้ คือ
                - สามารถปรับตัวกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง
               - สามารถปรับตัวได้กับการเกษียณอายุการทำงาน

               - สามารถปรับตัวได้กับการตายจากของคู่ครอง